Posted on Leave a comment

HQ (Health Quotient)

มีคนเป็นจำนวนมาก ทำลายเวลาพักผ่อนของตัวเองด้วยการทำงานโดยไม่พักผ่อน ถึงแม้ว่าความคาดหวังของคนทุกคนสูงขึ้นทุกวัน จนทำให้ต้องทุ่มเททั้งความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และความสามารถด้านคุณธรรมความดีงาม เพื่อเผชิญหน้ากับภารกิจที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ควรมองข้ามสังขารตัวเอง มันจะมีประโยชน์อะไรหาก IQ EQ และ MQสูง แต่ HQ ต่ำ

ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ หรือ HQ (Health Quotient) จึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้คนต้องนับรวมอยู่ในตัวแปรแห่งความสำเร็จด้วย คงดูไม่จืดแน่ๆ หากทรุดก่อนงานจะเสร็จ

Werner W. K. Hoeger และ Sharon A. Hoeger ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ให้คำแนะนำไว้ในหนังสือ Lifetime Physical Fitness and Wellness : A Personal Program ว่า คนที่จะมี HQ สูงต้องมีองค์ประกอบ 9 ประการดังนี้

1) เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้ฟิตอยู่เสมอ (Health related Fitness) สุขภาพที่ดีต้องมาจากร่างกาย กล้ามเนื้อ และหัวใจที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างกระฉับกระเฉง มีความอึด และมีกำลังสำรองมากพอยามฉุกเฉิน

2) รู้ว่าอะไรควรกิน ไม่ควรกิน (Nutrition) คนในยุคของกินหาง่าย กินได้ 24 ชม. ต้องมีความรู้เรื่องโภชนาการ คิดเป็นว่าควรกินอะไรจึงจะเหมาะสมกับสุขภาพ และควรหยุดพฤติกรรมการกินแบบไหนที่ทำร้ายตัวเอง

3) หลีกเลี่ยงสารเคมีและสารเสพติด (Avoiding Chemical Dependency) ให้ตระหนักเสมอว่าสิ่งเหล่านี้คือปฏิปักษ์ที่สุขภาพต้องรีบปฏิเสธทันที

4) หมั่นดูแลสุขอนามัยตนเอง (Personal Hygiene) แม้เรื่องการแปรงฟัน การล้างมือ การอาบน้ำ การดูแลเสื้อผ้า เครื่องนอน ดูเหมือนจะเป็นของง่าย ที่เราคิดว่ารู้อยู่ดีแล้ว แต่อย่าแค่รู้ดี ต้องทำให้ถูกวิธีด้วย

5) วางแผนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคร้าย (Disease Prevention) โดยการตรวจสุขภาพประจำปีตามความเสี่ยงของวัย ตามความเสี่ยงของอาชีพ การฉีดวัคซีนที่จำเป็น และการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่าง ๆ

6) อย่าประมาท (Personal Safety) ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด ต้องตระหนักถึงความปลอดภัย และควรโยนความคิดแบบ “ไม่เป็นไร” ทิ้งไปเสียที จงศึกษาและปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในทุกกรณี เช่น ไฟเหลืองแปลว่า เตรียมหยุด ไม่ได้แปลว่า เหยียบเต็มแรง

7) อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี (Environmental Health and Protection) คนฉลาดจะรู้ว่าเขาควรเลือกอยู่ในสถานที่ไหน เลือกคบใคร เลือกทำกิจกรรมแบบใด และเลือกรับข้อมูลข่าวสารอะไรจึงจะมีประโยชน์ที่สุด

8) มีความสามารถในการตอบโต้ความเครียดได้ดี (Stress Management) เมื่อเผชิญหน้ากับความกดดัน ต้องมีสติ รู้จักมองโลกในแง่ดี พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

9) มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี (Emotional Well Being) สามารถรับรู้และบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์

ลองศึกษา และนำไปปฏิบัติดูนะครับ
ขอให้ทุกคนมี HQ ที่ดีครับ

Cr. ดร.วรวุฒิ เจริญศรีพรพงศ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *